พระเกี้ยวเตรียม

ความเป็นมา

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาใช้รูป “พระเกี้ยว” เป็นตราประจำโรงเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ ครั้งก่อตั้งโรงเรียน เนื่องจากในตอนนั้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานรูปตราพระเกี้ยวให้จุฬาฯ ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยรูป “พระเกี้ยว” นี้มีที่มาจากตราประจำรัชกาลหรือพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๕

ตราพระเกี้ยวของจุฬาฯ ที่ใช้ตั้งแต่แรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ มีหลายรูปแบบ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ จุฬาฯ ได้ออกแบบตราพระเกี้ยว
ใหม่โดยอิงจากตราดั้งเดิมในประกาศราชกิจจานุเบกษา และได้ประกาศให้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเพียงรูปแบบเดียว ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับตรา “พระเกี้ยวเตรียม” นั้น ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐ – ๒๔๙๐ ซึ่งยังเป็นหน่วยงานอยู่ในสังกัดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” ก็ได้ใช้ตราพระเกี้ยวบางรูปแบบของจุฬาฯ ในเอกสารต่าง ๆ ของโรงเรียน

จนถึงปัจจุบันนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ใช้ตรารูปพระเกี้ยวหลายรูปแบบ ทั้งที่นำบางแบบของจุฬาฯ มาใช้ และที่เขียนขึ้นเอง จนระยะหลังมีการใช้รูปตราพระเกี้ยวหลายรูปแบบในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความสับสนและไม่มีความชัดเจนว่ารูปแบบไหนคือตราประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

จนกระทั่งเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โรงเรียนจึงได้เริ่มใช้รูปตราพระเกี้ยวใหม่นี้ ที่เขียนขึ้นจากสัดส่วนเค้าโครงของรูปพระเกี้ยวที่เป็นปูนปั้นบนหน้าตึก ๒ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๑ และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน รูปพระเกี้ยวนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ต่างจากรูปพระเกี้ยวอื่น โดยเฉพาะรูปทรงของเส้นรัศมีที่มีจำนวน ๑๕ เส้น เพื่อให้เป็นตราประจำโรงเรียนที่มีเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่มาเพียงรูปแบบเดียว

รูปตราพระเกี้ยวแบบสี่สีข้างบนนี้ เป็นรูปตราหลักสำหรับงานสิ่งพิมพ์และงานกราฟฟิคทุกชนิด
อีกสามรูปใช้เฉพาะในงานที่ไม่สามารถทำเป็นลายเส้นได้ เช่น งานปักขนาดเล็ก งานฉลุพ่นสี งานพิมพ์ฟอยล์
ส่วนรูปสุดท้ายเป็นลายเส้นสำหรับงานพิมพ์สีเดียว

วิธีนำภาพไปใช้ ทุกภาพเป็นไฟล png ความละเอียดสูง พื้นหลังโปร่ง สามารถกด save ไปใช้ได้เลย

เรื่องราวของรูปแบบพระเกี้ยวเตรียมฯ

รูปตราพระเกี้ยวเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระราชลัญจกรหรือตราประจำรัชกาลที่ ๕ ซึ่งประชาชนหรือองค์กรใด ๆ ไม่ควรนำไปใช้เป็นตราของตัวเองโดยอำเภอใจ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๖ ให้ใช้รูปตราพระเกี้ยวสืบต่อจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ที่มีกำเนิดสืบต่อมาจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งรัชกาลที่๕ ทรงโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ.๒๔๔๒ และเปลี่ยนมาจนกระทั่งเป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้มีการออกแบบตราพระเกี้ยวของมหาวิทยาลัยอยู่หลายแบบในเวลาต่อ ๆ มา ทำให้แต่ละหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยใช้รูปตราพระเกี้ยวไม่เหมือนกัน จนกระทั้งในปี พ.ศ.๒๕๓๑ มหาวิทยาลัยจึงกำหนดรูปแบบตราพระเกี้ยวให้ใช้เหมือนกันทั้งหมดเพียงแบบเดียวจนถึงปัจจุบัน

สำหรับตราพระเกี้ยวของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ถึง ๒๔๙๐ โรงเรียนเตรียมฯ เป็นหน่วยงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ใช้ตราประจำโรงเรียนตามต้นสังกัด และก็ใช้อยู่หลายแบบพร้อมกันด้วยเช่นเดียวกัน จนถึงปลายปี ๒๕๖๑ จึงได้เริ่มมีการใช้รูปแบบอย่างในรูปด้านบนนี้ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันเพียงแบบเดียว

ตึก๒​ หร​ือตึกเตรีย​มอุดมศึกษา​ ในช่วงเริ่มต้นของโรงเรียน

พระเกี้ยวเตรียมฯ รูปแบบแรกและมีปรากฎอยู่มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า ๘๐ ปี ก็คือปูนปั้นรูปพระเกี้ยวที่หน้าตึก ๒ ซึ่งใช้เป็นต้นแบบของรูปตราพระเกี้ยวเตรียมในปัจจุบัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนเส้นรัศมีรอบปลายยอดพระเกี้ยวมีจำนวน ๑๕ เส้น ซึ่งไม่เคยมีปรากฎในรูปตราพระเกี้ยวของที่อื่นเลย รวมถึงของจุฬาฯด้วย

รูปแบบต่างๆ ของตราพระเกี้ยวเตรียมฯ ที่เคยใช้

ในช่วงเวลา ๘๐ ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเตรียมฯ ใช้รูปพระเกี้ยวแบบของจุฬาฯ บ้าง ออกแบบเองบ้าง มีจำนวนเส้นรัศมีตั้งแต่ ๑๒, ๑๕, ๑๗, ๑๙ จนถึง ๒๑ เส้น บางทีก็ใช้ตราพระเกี้ยวของจุฬาฯ เลย และมีที่นำมาแก้ไขลดเส้นรัศมีจาก ๓๑ เส้นเหลือ ๑๗ เส้นด้วย

ตราพระเกี้ยวของจุฬาฯ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ จนถึงปัจจุบัน
ป้ายตราพระเกี้ยวสองแบบในซุ้มพระเกี้ยวแก้วหน้าโรงเรียน

แต่รูปแบบที่ชินตาและใช้อยู่นานกว่าแบบอื่น ๆ คือแบบของจุฬาฯ แบบหนึ่งที่ใช้ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๓๐ ซึ่งมีเส้นรัศมี ๑๙ เส้น แต่ตอนนั้นโรงเรียนเตรียมฯ ได้ออกจากสังกัดจุฬาฯ มานานแล้ว ซึ่งต้องถือว่าเป็นคนละสถาบันคนละองค์กรกัน ต่อมาก็ดัดแปลงรูปนั้นให้เหลือเส้นรัศมี ๑๗ เส้น แล้วก็ใช้มาอีกเป็นสิบปี แต่ก็ยังเป็นต่างคนต่างใช้ไม่เหมือนกันอยู่ประมาณ ๕-๖ แบบ บางแบบก็ใช้ทั้งที่มีเส้นรัศมี ๑๗ เส้นและ ๑๙ เส้นในช่วงเวลาเดียวกัน

ตราพระเกี้ยวของจุฬาฯ ที่โรงเรียนนำมาใช้ ทั้งที่เหมือนและที่ดัดแปลงเล็กน้อย รวมถึงลดจำนวนเส้นรัศมีจาก ๑๙ เส้น เหลือ ๑๗ เส้นด้วย
รูปพระเกี้ยวที่โรงเรียนเตรียมฯ ใช้จนถึงช่วง พ.ศ. ๒๕๖๒ มีทั้ง ๑๗ และ ๑๙ เส้น

จนกระทั่งมาถึงรูปแบบปัจจุบัน (4 รูปด้านบนสุด) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) โดยมีต้นแบบมาจากปูนปั้นรูปพระเกี้ยวบนหน้าตึก ๒ ที่ปรากฎตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเส้นรัศมี ๑๕ เส้นและรูปทรงของรัศมีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งนี้มาตลอด ๘๐ กว่าปี