รูปแบบการศึกษาของประเทศไทยในศตวรรษที่ ๒๑
ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช (ต.อ. ๒๑)
รูปแบบของการศึกษาชั้นเยี่ยม ที่ผมได้รับจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว หากนำมาใช้ในยุคนี้ ก็ถือเป็นวิธีการที่ล้าหลัง ตกยุค ไม่สามารถสร้างผู้นำหรือพัฒนาสุภาพชนของประเทศในยุค(คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ ได้
ไม่ต้องเปรียบเทียบไปไกลถึงขนาดนั้นก็ได้ เอาแค่เมื่อลูกชายซึ่งเป็นลูกคนเล็กของผม เรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อ ๑๘ ปีมาแล้ว กับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปัจจุบัน หากการเรียนการสอนที่คนสองรุ่นนี้ได้รับเหมือนกัน ก็แสดงว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังไม่ได้ใช้รูปแบบการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Learning)
โลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และนับวันยิ่งเปลี่ยนเร็วยิ่งขึ้น คนเราจึงต้องมีทักษะ (skills) หรือสมรรถนะ (competencies) ที่ซับซ้อน เพื่อการอยู่ได้และอยู่ดี ในสังคมที่ซับซ้อนและผันแปร ซึ่งการศึกษาที่ดี ที่ถูกต้อง จะสามารถเกื้อหนุนให้มนุษย์ธรรมดา บรรลุทักษะและสมรรถนะที่ซับซ้อนเหล่านั้นได้ ทักษะเชิงซ้อนชุดนี้ เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills)
ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑
หัวใจของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือ ต้องไม่เรียนเพียงแค่ให้รู้วิชา แต่ต้องฝึกใช้วิชา ในบริบทต่างๆ ของชีวิตจริง จนเกิดเป็นทักษะ การเรียนรู้ที่แท้จริงในยุคใหม่ จึงต้องเน้นการฝึกฝน (practice) ให้เกิดทักษะเชิงซ้อนชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑
ทักษะเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑
ได้แก่ สาระวิชาหลัก
- ภาษาแม่ และภาษาโลก
- ศิลปะ
- คณิตศาสตร์
- เศรษฐศาสตร์
- วิทยาศาสตร์
- ภูมิศาสตร์
- ประวัติศาสตร์
- รัฐ และความเป็นพลเมืองดี
หัวข้อสำหรับเรียนรู้สาระวิชาหลักศตวรรษที่ ๒๑
- ความรู้เกี่ยวกับโลก
- ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ
- ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองดี
- ความรู้ด้านสุขภาพ
- ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม
- ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
- การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหา
- การสื่อสารและการร่วมมือ
ทักษะด้านสารสนเทศ, สื่อ, และเทคโนโลยี
- ทักษะด้านสารสนเทศ
- ทักษะรู้เท่าทันสื่อ
- ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ทักษะชีวิตและอาชีพ
- ความยืดหยุ่นและปรับตัว
- การริเริ่มและเป็นตัวของตัวเอง
- ทักษะสังคม และสังคมข้ามวัฒนธรรม
- ทักษะการเป็นผู้สร้างหรือผลิต (productivity) และความรับผิดรับชอบเชื่อถือได้ (accountability)
- ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (responsibility)
ทักษะในการประกอบอาชีพ
ข้อความในหัวข้อนี้ดัดแปลงจากหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ โดยวิจารณ์ พานิช หน้า ๑๖ – ๑๗ หนังสือเล่มนี้ ดาวน์โหลดได้ฟรีจาก http://www.teenpath.net/data/vbook/00122/tpfile/00001.pdf ท่านที่สนใจเรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยละเอียด ควรอ่านหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ หรือหากต้องการอ่านโดยย่อ และไม่ต้องซื้อ ก็สามารถอ่านได้จากหนังสือ การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑ โดย วิจารณ์ พานิช ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ http://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/5466 หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ขอแนะนำคือ ส่งความสุข สู่คุณภาพการศึกษา โดยวิจารณ์ พานิช ซึ่งดาวน์โหลดฟรีได้ โดยใช้ชื่อหนังสือ ค้นด้วยกูเกิ้ล
การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑
การเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ คือยุคปัจจุบัน ต้องไม่เหมือนกับการเรียนรู้เมื่อ ๑๘ ปีก่อน สมัยที่ลูกคนเล็กของผมเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพราะการเรียนรู้ในสมัยนั้นยังใช้รูปแบบ หลักการวิธีการของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ อยู่ คือยังเน้นสอนโดยครูถ่ายทอดความรู้ เน้นการเรียนวิชา ให้จดจำได้ ตอบข้อสอบที่เน้นถามสาระวิชาได้
เพื่อให้บรรลุทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเน้นเรียนโดยการปฏิบัติ ตามด้วยการสะท้อนคิด หรือไตร่ตรอง (reflection) ต้องมีลักษณะ “สอนน้อย เรียนมาก” (Teach less, learn more) และเน้นเรียนเป็นทีม (team learning) ครูเปลี่ยนจาก “ครูสอน” ไปเป็น “ครูฝึก” หรือเป็นโค้ช เพราะการเรียนในยุคใหม่คือการทำงานนั่นเอง
รูปแบบหนึ่งของการเรียนโดยการปฏิบัติ คือการทำโครงงาน (project) การเรียนแบบนี้จึงมีชื่อว่า PBL (Project-Based Learning) โดยมีข้อพึงระวัง ๒ ข้อ เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนแบบรู้จริง (mastery learning) คือ (๑) โครงงานนั้นต้องเป็นงานจริง ที่ทั้งครูและศิษย์ยังไม่แน่ใจว่าผลจะออกมาอย่างไร เพื่อให้เกิดการเรียนแบบ ที่เรียกว่าเรียนของจริง (authentic learning) ไม่ใช่เรียนหลอกๆ ข้อนี้จะนำไปสู่บทบาทของครูที่พึงตระหนัก หรือพึงระมัดระวังอีกหลายข้อ ดังจะกล่าวในตอนต่อไป (๒) ต้องอย่าหลงผิดว่าหากโครงงานได้ผลดี แสดงว่านักเรียนได้เรียนรู้แล้ว ส่วนใหญ่แล้วหากทั้งครูและนักเรียนมุ่งที่ผลของโครงงาน นักเรียนมักจะเรียนได้ ไม่ลึก หรือไม่รู้จริง จะให้รู้จริงครูต้องชวนนักเรียนในทีมทบทวนไตร่ตรอง (reflection) ร่วมกันเป็นระยะๆ ว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง และยังไม่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งเป้าหมายความรู้เชิงทฤษฎี เป้าหมายการฝึกทักษะ และเป้าหมายด้านการบรรลุคุณค่าทางใจ กระบวนการนี้ทางพุทธเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ภาษาการจัดการความรู้เรียกว่า AAR (After Action Review) ครูต้องฝึกทักษะการเป็น “คุณอำนวย” (facilitator) ของกระบวนการนี้
หลักการสำคัญคือ ต้องใช้การเรียนรู้หลายแบบประกอบกัน โดยเน้นการเรียนแบบผู้เรียนเป็นเจ้าของ กระบวนการ(ไม่ใช่ครูเป็นเจ้าของ) และฝึกเรียนรู้ด้วยจิตวิญญาณของ “ผู้สร้าง” (ความรู้) ไม่ใช่ “ผู้เสพ”
ท่านที่ต้องการทราบรายละเอียด ดูได้จาก วีดิทัศน์ เรื่อง สอนอย่างไรในศตวรรษที่ ๒๑ โดยวิจารณ์ พานิช ที่ http://www.youtube.com/watch?v=J2zpoCcqayc
บทบาทของครูในศตวรรษที่ ๒๑
ครูในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าศิษย์ของตน ไม่เหมือนนักเรียนในสมัยที่ตนเป็นนักเรียน ความแตกต่างที่สำคัญคือ (๑) เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับการเรียน เพราะสภาพแวดล้อม มีเรื่องน่าสนใจมายั่วยวนมากมาย (๒) เด็กสมัยนี้มีความรู้มาก โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นความรู้ผิดๆ เพราะสมัยนี้ความรู้หาง่าย แต่มีทั้งความรู้ที่เก่าล้าสมัย ความรู้ที่ถูกต้องเพิ่งรู้ใหม่ ความรู้ที่ตรงไปตรงมา และความรู้ที่ล่อหลอกชักจูง (๓) นักเรียนในชั้น มีพื้นความรู้ในแต่ละเรื่องแต่ละวิชาแตกต่างกันมาก (๔) เด็กสมัยนี้ใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศและการสื่อสารเก่งมาก สามารถค้นหาความรู้ได้เอง แต่ยังไม่เก่งด้าน การตรวจสอบความแม่นยำน่าเชื่อถือของความรู้ที่ค้นหาได้ (๕) นักเรียนสมัยนี้ถูกสังคมวัตถุนิยมทุนนิยม ล่อหลอกให้เสพ อย่างล้ำลึกแยบยลไม่รู้สึกตัว
ครูต้องทำหน้าที่ครูภายใต้สภาพความจริงนี้ โดยมีหลักการและรายละเอียดระบุไว้ในหนังสือ สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ โดย วิจารณ์ พานิช ซึ่ง ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ http://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/5649
ครูในยุคนี้ต้องศึกษาศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ (cognitive psychology) ซึ่งก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เข้าใจกลไกการเรียนรู้ ให้ครูนำมาคิดสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อศิษย์ของตน ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร โดย วิจารณ์ พานิช ซึ่ง ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ http://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/5462 และจากหนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่
บทบาทสำคัญยิ่งของครู คือ ต้องจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์บรรลุสภาพการเรียนรู้แบบ “รู้จริง” (mastery learning) ในเนื้อหาวิชาต่างๆ ที่กำหนด ผ่านการลงมือปฏิบัติประยุกต์ใช้ความรู้นั้นๆ จนสามารถอธิบาย เนื้อวิชาเหล่านั้นได้ด้วยภาษา หรือถ้อยคำ ของตนเอง และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว การเรียนรู้ แบบรู้จริงในขั้นตอนต่างๆ จะเป็นการปูรากฐานพื้นความรู้ ให้นักเรียนต่อยอดความรู้ ไปสู่ความรู้ ที่ยกระดับขึ้น เชื่อมโยงขึ้น และซับซ้อนขึ้น ได้โดยง่ายและสนุกสนาน ในชั้นเรียนต่อๆ ไป รวมทั้งในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้การเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่ใช่กิจกรรมที่น่าเบื่อ แต่ถ้านักเรียน มีการเรียนรู้ในระดับไม่รู้จริง หรือรู้เพียงผิวเผิน (superficial learning) สถานการณ์ก็จะไปในทางตรงกันข้าม
นักเรียนต้องได้เรียนจากการลงมือทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตในอนาคตของตนเอง ที่ครูและศิษย์ร่วมกันกำหนดโจทย์ คิดออกมาเป็นโครงงาน (project) ให้นักเรียนทำงานเป็นทีมเพื่อการเรียนรู้ หลากหลายด้านของตนเอง ที่เรียกว่า “เรียนรู้อย่างบูรณาการ” คือไม่ใช่แค่เรียนวิชาหรือเนื้อความรู้เท่านั้น นักเรียนยังได้ฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย ใน ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑
การเรียนรู้แบบนี้มีเคล็ดลับสำคัญคือ ต้องไม่ใช่เป็นการเรียนแบบหลอกๆ ทำโครงงานหลอกๆ ที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็รู้อยู่แล้วว่าผลคืออะไร ทำอย่างไร หากโครงงานมีลักษณะหลอกๆ เช่นนี้ นักเรียนจะไม่บรรลุการเรียนแบบรู้จริง เพราะบทเรียนและกระบวนการเรียนไม่ใช่ของจริงแท้ (genuine learning)
ในการเรียนแบบโครงงานที่จริงแท้ ตัวครูเองก็ไม่รู้คำตอบ และครูเองก็มีความรู้ไม่เพียงพอ ที่จะบอกนักเรียน ตัวนักเรียนต้องไปแสวงหาความรู้เอาเองจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการไปปรึกษา “สหมิตรครู” (co-educator) ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งดี ที่ช่วยตอบคำถาม หรือให้คำแนะนำแหล่งค้นคว้าที่เหมาะสม ให้แก่นักเรียนได้ สหมิตรครู อาจเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ข้าราชการ นักธุรกิจ วิศวกร แพทย์ นักกฎหมาย ฯลฯ ที่นักเรียนสามารถติดต่อได้ ทั้งไปหาโดยตรง หรือปรึกษาผ่าน อินเทอร์เน็ต
นั่นหมายความว่า ครูในยุคปัจจุบัน ต้องกล้าหรือมั่นใจที่จะแนะนำหรือเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์ ในเรื่องที่ตนเองไม่เข้าใจชัดเจน โดยต้องกล้าที่จะบอกความจริงต่อศิษย์ว่า ในเรื่องนั้นครูเองก็มีความรู้ ความเข้าใจจำกัด หากครูทำงานภายใต้เจตคติเช่นนี้ ครูคือ “ผู้เรียนรู้” ไม่ใช่ “ผู้รู้” หรือ “ผู้สอน”
เพราะความรู้งอกเร็ว และเก่าเร็ว ครูจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญสาระ” (content expert) อีกต่อไป ต้องทำตัวเป็น “ผู้เรียนรู้” และแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งคือจากศิษย์ ในกระบวนการเรียนรู้ แบบโครงงานของศิษย์
ตัวช่วย ต่อการเรียนรู้ของครู ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อนครูด้วยกัน ครูในยุคปัจจุบันจึงต้องไม่ทำงานเดี่ยว ต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้ของครู (PLC – Professional Learning Community) ท่านที่สนใจรายละเอียดของ PLC อ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=dufour
ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความเห็น หรือเสนอความรู้ที่แตกต่างจากความรู้ ความเข้าใจของครูได้ โดยครูไม่รู้สึกเสียหน้า และต้องฝึกให้นักเรียนรู้จักวิธีแสดงความแตกต่างนั้นอย่างสุภาพ ไม่ยืนหยัดหรือดันทุรังว่าความเห็นของตนถูกต้อง คนอื่นผิดหมด
คาถาสำคัญสำหรับการทำหน้าที่ครูในยุคปัจจุบัน คือ “หนึ่งคำถามมีหลายคำตอบ” คำตอบเป็น เส้นทางหรือเครื่องมือ (means) ไม่ใช่จุดสุดท้าย(end) ของการเรียนรู้ ซึ่งนักเรียนจะต้องเรียนหรือฝึกคิดแหวกแนวไปจากครูหรือตำรา เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นยิ่งสำหรับชีวิตในสังคมปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำ
การเรียนรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำ
ภาวะผู้นำ (leadership) เป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งหมายความว่า การศึกษาในยุคนี้ ต้องสร้างภาวะผู้นำให้แก่เด็กทุกคน ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ การเรียนเป็นทีม กระบวนการเรียนแบบจริงแท้ (genuine learning) และการเรียนแบบรู้จริง (mastery learning)
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็นการเรียนแบบเปลี่ยนแปลงตัวตน(transformative learning) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เพื่องอกงามคุณสมบัติหรือทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ หลากหลายมิติ ทั้งด้านความมั่นใจตนเอง และความเคารพผู้อื่น รู้จักสื่อสาร รู้จักฟัง รู้จักวิธีพูดเกลี้ยกล่อมเพื่อน รู้จักประนีประนอม รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) เป็นต้น ที่ประกอบกันเข้าเป็น “ทักษะภาวะผู้นำ” (leadership skills)
หัวใจของการเรียนแบบ Transformative Learning คือ การงอกงามทักษะภาวะผู้นำ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ หมายถึงการเป็นหัวหน้าเท่านั้น แต่ตีความว่าหมายถึง คุณสมบัติการเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (change agent)
เมื่อนักเรียนที่ได้รับการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำ ไปทำงานที่ใด หรือไปมีชีวิตอยู่ในที่ใด เขาจะเข้าไปเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เขาจะเป็นคนที่ไม่กลัว การเปลี่ยนแปลง และคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง หรือมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งปกติธรรมดา หรือเป็นสิ่งจำเป็น ในการดำรงชีวิตในอนาคต เขาจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันหรือแก้ปัญหา (part of the solution) ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา (part of the problem) ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งหรือวิธีการเดิมๆ
เพื่อให้ทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ พลเมืองในยุคปัจจุบันต้องได้รับการศึกษาแบบที่ไม่ใช่ แค่เรียนรู้วิชา แต่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาครบทุกมิติ เพื่อพัฒนาให้เต็มศักยภาพ และเป็นคนเต็มคน
การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเป็นคนเต็มคน
สมองและร่างกายของมนุษย์นั้น ธรรมชาติออกแบบมาให้สามารถเรียนรู้พัฒนาได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ หรืออาจกล่าวว่า มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงยิ่ง แต่การศึกษาในรูปแบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ใช้วิธีการที่จะช่วยให้เยาวชนไทยพัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์
เพราะระบบบริหารจัดการระบบการศึกษาของชาติหลงไปเน้นที่การสอนวิชา และสอบสาระวิชา การเรียนรู้ในระบบการศึกษาของไทยจึงพร่อง ไม่พัฒนาเยาวชนให้เป็นคนเต็มคน คือละเลยเรื่องทักษะ (แห่งศตวรรษที่ ๒๑) ไปเกือบทั้งหมด ละเลยการเรียนด้านใน เพื่อรู้จักตนเอง
มุมมองในเรื่องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเป็นคนเต็มคน มองได้หลายแบบ อาจมองแบบพหุปัญญาของ Howard Gardner ก็ได้ โดยระบบการศึกษาต้องเอาใจใส่เอื้อให้นักเรียนได้ฝึกฝนปัญญาครบด้าน อาจมองแบบพัฒนาการครบด้าน ได้แก่ด้านพุทธิปัญญา พัฒนาการด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านจิตวิญญาณ (จิตใจ) และด้านร่างกาย ก็ได้ อาจจะมองตามแบบพุทธ คือ พัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ ท่านที่สนใจมุมมองแบบพุทธ อ่านคำสอนของท่านพระธรรมปิฎกได้ที่ http://www.suwalaiporn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=420844
อีกมุมมองหนึ่ง ตามแนวของหนังสือ The Heart of Higher Education ซึ่งเน้นว่าการเรียนรู้ต้องพัฒนา ทั้งสมอง (head) หัวใจ (heart) และวิญญาณ (spirit) รายละเอียดอ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=The%20Heart%20of%20Higher%20Education
สรุปว่า การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเป็นคนเต็มคน ต้องเรียนโดยเน้นการปฏิบัติและทบทวนไตร่ตรองผล และประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีจากการปฏิบัติ ที่เรียกว่า การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑
ปัญหาของระบบการศึกษาไทย
ดัชนีบอกว่าระบบการศึกษาไทยอยู่ในสภาพป่วยหนัก ดูได้จากผลการทดสอบความรู้ของนักเรียนไทย เทียบกับนักเรียนในประเทศอื่นๆ ได้แก่ผลการทดสอบ PISA, TIMSS ซึ่งจัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่คุณภาพ การศึกษาอยู่ในกลุ่มต่ำสุด ทั้งๆ ที่ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาในอัตราที่สูง นอกจากนั้น ผลการทดสอบ มาตรฐานของไทยเอง ก็บอกว่านักเรียนโดยเฉลี่ยมีผลการเรียนต่ำมาก ท่านที่ต้องการรายละเอียด ดูจากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/03/public_semianr_reform-proposal.pdf และรายงานอื่นๆ ของ ทีดีอาร์ไอ
สาเหตุหลักๆ ของความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทย คือ ไม่ได้ปรับเข้าสู่การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ การผลิตครูยังผลิต “ครูสอน” ใช้ “ผลงานปลอม” ในการเลื่อนวิทยฐานะหรือในการให้คุณแก่ครู ไม่ใช่ผลงานการจัดการเรียนรู้ที่ดีแก่ศิษย์ ระบบบริหารการศึกษาที่ไม่ให้เกียรติ ไม่เชื่อถือครู และปัญหาความฉ้อฉลในระบบบริหารการศึกษา ที่เชื่อมโยงกับการเมืองที่ฉ้อฉลทำให้ระบบบิดเบี้ยว การแก้ปัญหาจะต้องทำต่อเนื่องและใช้เวลานานมาก
ปัญหาจัดกระบวนการเรียนรู้ผิดยุค คือยังคงเน้นการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ ครูเกือบทั้งหมด ทำหน้าที่ครูแบบเป็น โค้ช หรือเป็น “ครูฝึก” ไม่เป็น
ปัญหาการผลิตครู ยังคงผลิต “ครูสอน” ไม่ได้ผลิต “ครูฝึก”
ปัญหาระบบความดีความชอบของครูที่บิดเบี้ยว แทนที่จะให้ความดีความชอบแก่ผลงาน สร้างการเรียนรู้ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูง กลับไปให้ความดีความชอบแก่ผลงานในกระดาษ ซึ่งการทำผลงานนั้น ครูต้องทิ้งศิษย์ หรือต้องใช้เงินไปจ้างคนอื่นทำ
ปัญหาระบบบิหารการศึกษาที่ไม่ให้เกียรติ ไม่เชื่อถือครู จึงเน้นการสอบส่วนกลาง เน้นข้อสอบมาตรฐาน สอบเฉพาะด้านวิชาความรู้ โรงเรียนและครูจึงตั้งหน้า “สอนเพื่อสอบ” (teach to test) ทำให้นักเรียนได้เรียนเฉพาะวิชาหรือสาระ ไม่ได้เรียนรู้ฝึกฝนเพื่อพัฒนาการครบด้าน ประเทศที่ระบบ การศึกษามีคุณภาพสูง จะมีการสอบแบบ summative evaluation โดยส่วนกลางน้อยมาก ยกความรับผิดชอบ ให้ครูประเมินศิษย์แบบ formative assessment โดยประเมินพัฒนาการครบทุกด้าน โดยส่วนกลางคอย ตรวจสอบช่วยเหลือให้ครูประเมินได้แม่นยำ
ปัญหาใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูประจำการแบบที่ผิด แบบที่ผิดและใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันคือ เน้นการฝึกอบรม เมื่อพูดถึงการพัฒนาครูประจำการก็หมายถึงจัดการฝึกอบรม ส่งงบประมาณไปให้หน่วยรับ จัดการฝึกอบรม แล้วสั่งให้ครูไปรับการอบรม วิธีการนี้ได้ผลน้อยมาก และก่อผลเสียคือครูต้องละงานไปเข้ารับ การอบรมตามคำสั่ง แต่ที่ก่อผลเสียยิ่งกว่านั้นคือ ครูไม่ได้ใช้การทำงานของตนเอง เป็นที่เรียนรู้ ทำให้ครูไม่มี ทักษะของ “ผู้เรียนรู้” จากการทำงาน หรือไม่เป็น learning person
วิธีพัฒนาครูประจำการที่แนะนำสำหรับยุคศตวรรษที่ ๒๑ คือการส่งเสริมให้ครูเรียนรู้จากงานของตน และรวมตัวกันเรียนรู้ เป็น “ชุมชนเรียนรู้” (learning community) ที่เรียกว่า PLC ดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อครู ท่านใดเรียนรู้จากการปฏิบัติแล้ว รู้สึกว่าต้องการไปรับการฝึกอบรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ก็มีการจัด อำนวยความสะดวกให้ได้ไป ซึ่งหมายความว่า อำนาจในการตัดสินใจและดำเนินการเพื่อพัฒนา ครูประจำการ นั้น ส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๘๐ – ๙๐) อยู่ในมือของตัวครูเอง
ปัญหาความฉ้อฉลในระบบบริหารการศึกษา เชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศ ความฉ้อฉล ที่รู้กันทั่วไป แต่ไม่มีการแก้ไขเลย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการจ้างบุคคลอื่นทำ “ผลงาน” เพื่อเสนอ ขอเลื่อนวิทยฐานะ มีคนบอกผมว่า ต้องไปจ้างคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผลงานนั่นเอง ให้เป็นผู้ทำผลงานให้ มิฉนั้นจะไม่ผ่าน อีกคนหนึ่งบอกว่า ต้องจ่ายเงินสองต่อ คือจ่ายจ้างคนทำผลงานให้ และจ่ายเงินให้แก่ ผู้ประเมินผลงานเพื่อให้ผ่าน ผมไม่ทราบว่าความฉ้อฉลแง่นี้กว้างขวางแค่ไหน อีกเรื่องหนึ่งคือการขอย้าย โรงเรียนของครู มีคนบอกว่าต้องจ่ายเป็นกิโลเมตร กิโลเมตรละเท่าไรผมไม่ได้ถาม ความฉ้อฉลที่ซึมลึกในด้าน การตั้งสมาคมครูเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับนักการเมือง ที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กเลย เป็นเรื่องที่จะแก้ไขยากมาก
ปัญหาระบบการศึกษาไทยไม่เป็นระบบเรียนรู้ ผมพบด้วยตนเองว่าความก้าวหน้าใหม่ๆ ด้านวิธีการจัดการเรียนรู้ ที่มีการพัฒนาในต่างประเทศ และเผยแพร่ไปทั่วโลก และผู้บริหารการศึกษาระดับสูงไปดูงานกันมากมายนั้น ไม่เป็นที่รับรู้กันในวงการศึกษา คือเราไม่ได้เรียนรู้จากระบบการศึกษาของประเทศที่ คุณภาพการศึกษาสูง อาจจะได้รับรู้แต่ไม่ได้เรียนรู้ หรือบางคนอาจได้เรียนรู้แต่ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการแก้ไข หรือระบบของเราแข็งตัวเสียจนยากต่อการแก้ไขปรับปรุง
นอกจากไม่เรียนรู้จากภายนอกแล้ว ระบบการศึกษาไทยไม่เรียนรู้จากตนเอง ไม่เรียนรู้จาก ความผิดพลาดของตนเอง ไม่เรียนรู้จากความสำเร็จเล็กๆ ของตนเอง ไม่มีหน่วยงานจัดการงานวิจัย ด้านระบบการศึกษา เหมือนอย่างที่วงการสาธารณสุขมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่ได้จัดการงานวิจัย เพื่อเรียนรู้และปรับปรุงระบบสาธารณสุขของประเทศ จนระบบสุขภาพของเรามีชื่อเสียงไปทั่วโลก ว่าเป็นระบบสุขภาพที่ใช้เงินน้อย ได้ผลมาก (Good health at low cost)
ปัญหาระบบการบริหารการศึกษาที่เน้นอำนาจรวมศูนย์ มีผลให้ส่วนกลางเน้นคิดหลักสูตร และวิธีการใหม่ๆ สั่งการไปยังเขตการศึกษาและโรงเรียน แทนที่ครูจะใช้เวลาเน้นคิดไตร่ตรองเพื่อปรับปรุง การเรียนรู้ของศิษย์ กลับหมดเวลาไปกับการเขียนรายงานส่งหน่วยเหนือ สภาพเช่นนี้ ทำให้ครูไม่มีโอกาส คิดเอง ครูจึงคิดไม่เป็น แล้วจะฝึกให้ศิษย์คิดเป็นได้อย่างไร
ปัญหาการใช้ครูและนักเรียนไปร่วมงานประดับบารมีผู้ใหญ่ ในจังหวัดหรืออำเภอ นิยมจัดงานเพื่อเชิญ ผู้ใหญ่มาปรากฎตัวเพื่อเอาใจผู้ใหญ่ หรือเพื่อให้มีการว่าจ้าง ออร์แกไน้เซ่อร์จัดงาน (เพื่อขอเงินทอน เข้ากระเป๋าใครไม่ทราบ) เพื่อให้งานยิ่งใหญ่ ต้องมีคนมามาก คนที่เกณฑ์มาง่ายคือนักเรียนและครู นักเรียนต้องไปร่วมงานที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของตนเช่นนี้บ่อยมาก มีคนแสดงรายละเอียดในที่ประชุมแห่งหนึ่งว่า ในแต่ละภาคการศึกษาที่มี ๒๐ สัปดาห์นั้น หักเวลากิจกรรมโน่นนี่ออกไปแล้ว นักเรียนมีเวลาเรียนจริงๆ เพียง ๑๒ สัปดาห์เท่านั้น ไม่ทราบว่าเป็นจริงแค่ไหน
ทางออกของระบบการศึกษาไทย
ทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษา ๕ ประเด็นหลัก ตาม ลิ้งค์ ที่อ้างแล้วในตอนก่อน คือ (๑) หลักสูตร สื่อการสอน และเทคโนโลยี (๒) ระบบการประเมินผลผู้เรียน (๓) ระบบประเมินและพัฒนาคุณภาพครู (๔) ระบบการประเมินคุณภาพสถานศึกษา (๕) ระบบการเงินเพื่อการศึกษา
ผมเคยเสนอทางออกของระบบการศึกษาไทยที่มีรายละเอียดมาก อ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ซึ่งมีสาระโดยย่อว่าผมเสนอให้วงการ วิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองทำวิจัยเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการเรียนรู้ในสังคมไทย จากเรียนรู้ แบบเน้นรับถ่ายทอด หรือแบบเสพ มาเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง หรือแบบสร้างความรู้ จากการปฏิบัติของตนเอง ซึ่งจะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ปลดปล่อยศักยภาพความเป็นมนุษย์ออกมา ข้อเสนอนี้ไม่ใช่สำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่เสนอสำหรับคนไทยทุกคน ทุกอายุ
ระบบการศึกษาไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ที่อาจต้องใช้คำว่าปฏิวัติ โดยมีหลักการดังเขียนมาแล้วข้างต้น
แต่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนจำนวนมากเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมียุทธศาสตร์ของการจัดการการเปลี่ยนแปลง โดยที่ประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึง กับของเรามาก คือประเทศสหรัฐอเมริกา
ในความเห็นของผม วิธีการที่รัฐบาลที่เพิ่งลาออกไป และกำลังรักษาการ (ขณะเขียนบทความนี้เป็นช่วง สัปดาห์สุดท้ายของปี พ.ศ.๒๕๕๖) ดำเนินการอยู่จะไม่ได้ผล เพราะยังใช้ยุทธศาสตร์ดำเนินการแบบรวมศูนย์ ที่ส่วนกลาง ซึ่งในกรณีนี้นักการเมืองเข้ามาดำเนินการเองโดยตรง
ผมเชื่อในวิธีการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นที่จุดสัมผัสระหว่างครูกับศิษย์ เน้นยุทธศาสตร์เชิงบวก และเน้นการให้คุณต่อผลงานคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ในการเรียน แต่ต้องวางแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ และมีการปรึกษาหารือกับคนทุกระดับ ในระบบการศึกษา ซึ่งหมายความว่า ในกระบวนการปฏิวัติ การศึกษาไทยนั้น เป้าหมายหนึ่งคือลดความสัมพันธ์แนวดิ่ง และอำนาจควบคุมสั่งการ ในวงการศึกษา
เริ่มด้วยการหาวิธีประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับเอามาตรวจสอบว่าโรงเรียนใด เขตการศึกษาใด มีผลสัมฤทธิ์ดี หลักการกว้างๆ คือวัดว่าเมื่อนักเรียนมาโรงเรียนแล้ว ทักษะและความรู้ ของเด็กเพิ่มขึ้นเพียงไร ระหว่างต้นปีกับปลายปีการศึกษา ชั้นเรียนใด โรงเรียนใด และเขตการศึกษาใด ทักษะและความรู้ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างน่าชื่นชม เจ้าของผลงานจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษรายเดือนในปีถัดไป โดยจะได้รับ ค่าตอบแทนต่ออีกก็ต้องแสดงผลเช่นเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้น ในปีต่อไป และมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างครู โรงเรียน เขตการศึกษา ที่มีผลงานเด่นเหล่านั้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับที่อื่นอย่างเป็นระบบ ทั้งโดยการประชุมสัมมนา และโดยทาง อินเทอร์เน็ต คือมีการส่งเสริมให้เกิด PLC กลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ครูที่ล้าหลังหมดสภาพครูที่ดี จะได้รับทางเลือกว่าจะลาออก หรือจะพัฒนาตนเอง โดยจะได้รับ การช่วยเหลือ แต่ถ้าจะเป็นครูอยู่ต่อไปต้องทำข้อตกลงว่าจะปรับปรุงตนเองจนสมรรถนะ การทำหน้าที่ ครูยุคใหม่ ในระดับที่ยอมรับได้
มีการทำวิจัย เพื่อทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ ของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประเด็นหนึ่ง ที่ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนคือ ที่มีคนกล่าวว่า ระบบกำลังคนในกระทรวงศึกษาธิการมีผู้อยู่ในตำแหน่งบริหาร มากเกินไป เป็นเรื่องจริงเพียงใด และควรมีการจัดสรรกำลังคนใหม่อย่างไร
ทางออก หรือการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยในสายตาของผม จึงเป็นแนวทางที่มุ่งหาความสำเร็จ ที่ต้องการ ที่มีอยู่แล้วในระบบการศึกษาอันอ่อนแอของเรา นำมาส่งเสริมและขยายผล อาจให้ชื่อว่า success story approach
แนวทางที่ใช้การวิจัยช่วยสร้างข้อมูลหลักฐาน ตอบคำถามเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับนำมาใช้ในการ เลือกวิธีการปรับปรุงอย่างเป็นระบบ อาจให้ชื่อว่า systems research approach แนวทางดำเนินการ อย่างเป็นระบบ อาจให้ชื่อว่า systems approach ยุทธศาสตร์มุ่งดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาว อาจให้ชื่อว่า longterm continuous approach และควรใช้ยุทธศาสตร์เอื้ออำนาจให้แก่ครูที่ทำงานอย่างรับผิดชอบ ซึ่งอาจใช้ชื่อว่า teacher empowerment approach
ทางออกที่ชัดเจนคือ ต้องดำเนินการเปลี่ยนระบบการศึกษาแบบเปลี่ยนยกเครื่อง ดำเนินการอย่าง จริงจังต่อเนื่อง ใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกเป็นพลังหลัก เสริมด้วยพลังเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ จัดการความรู้ ทำอย่างเป็นระบบ และมีการวิจัยหนุน โดยที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เองก็เป็นระบบเรียนรู้ (learning systems) ไปด้วยในตัว
หลักการของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ คือต้องเน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทางออกของ ระบบการศึกษาไทย ก็เช่นเดียวกัน ต้องเน้นที่การเรียนรู้และปรับตัวระบบ จากการปฏิบัติ โดยต้องมีข้อมูลป้อนกลับที่แม่นยำ ที่ได้จากการวิจัยระบบการศึกษา เป็นเครื่องมือหนุน
ในช่วงเวลา ๗๖ ปีของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ให้การศึกษาแก่เยาวชนที่มีสมองชั้นเลิศ ให้เป็นสุภาพชนออกไปทำหน้าที่ผู้นำรับใช้สังคมอย่างน่าชื่นชม แต่ความสำเร็จอันน่าชื่นชมนี้ จะไม่สามารถบรรลุได้ ในอนาคต หากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังใช้วิธีจัดการเรียนรู้แบบเดิม
(ที่มา www.gotoknow.org เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เมื่อ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๗ แก้ไขเมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐)